วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

• Cetopsis coecutiens บลูชาร์ค



ปลาชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cetopsis coecutiens อ่านว่า ซีทอปสิส โคคคูเทียนส์ ถูกบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานครั้งแรกโดย Lichtenstein, 1819 ชื่อสกุล มาจากภาษากรีก cetos ซึ่งแปลว่า วาฬ และคำว่า cosis ซึ่งแปลว่า คล้าย รวมกันเป็นคำแปลว่า คล้ายวาฬ นั่นเอง มีชื่อพ้อง(Synonyms) คือ Silurus coecutiens, Silurus caecutiens ส่วนชื่อสามัญ ก็มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อครับ เช่น Baby Whale Catfish, Blue Shark Catfish, Blue Torpedo Catfish, Blue Whale Catfish, Whale Catfish และ Canero ส่วนนักเลี้ยงปลาแปลกชาวไทย นิยมเรียกมันว่า บลูชาร์ค ทับศัพท์ไปเลยครับ ไม่ต้องไปแปลว่า ฉลามสีน้ำเงิน บางคนอาจเรียก คาเนโร่ ก็มีบ้างเช่นกัน ปลาในสกุลนี้ มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 26 สปีชีส์ครับ แต่สปีชีส์ หรือชนิดที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยบ่อยที่สุด ก็คือ C. coecutiens นั่นเองครับ





การแพร่กระจายและแหล่งที่อยุ่อาศัย
ปลาชนิดนี้มาจากทวีปอเมริกาใต้ พบที่ แม่น้ำหลายสาย ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น อเมซอน โทแคนติน และ โอริโนโค่ เป็นต้น ปลาบลูชาร์ค อาศัยหากินอยู่ในน้ำหลายระดับความลึก ตั้งแต่บริเวณพื้นท้องน้ำ จนมาถึงกลางน้ำครับ อุณหภูมิของน้ำในธรรมชาติ อยู่ที่ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส pH 6.0-7.4 มันสามารถอยู่ได้ทั้งน้ำไหลและน้ำนิ่ง ตามแต่ที่พวกมันจะว่ายน้ำไปหาเหยื่อได้ แต่ปกติจะพบทั่วไปในแหล่งน้ำไหลขนาดใหญ่ครับ



ลักษณะรูปร่าง นิสัย และอาหาร
ปลาบลูชาร์ค มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม หรือ วาฬ สมชื่อนี่แหละครับ ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ จะงอยปากบนยื่นยาวกว่าจะงอยปากล่าง ดวงตามีขนาดเล็กมาก ลำตัวเพรียวยาว ครีบหลังเป็นรูป สามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายฉลาม มองดูหน้าตาแล้วน่ารักครับ เหมือนปลาตัวนี้ กำลังยิ้มให้เราตลอดเวลา ลำตัวเพียวยาว รูปตอร์ปิโด ไม่พบครีบไขมัน ไม่มีเกล็ด สีของลำตัว ด้านบนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ส่วนด้านท้องเป็นสีขาว มีสีเหลือบฟ้าทั่วทั้งลำตัว ขนาดโตเต็มที่ทั่วไป ประมาณ 26 เซนติเมตร แต่ก็สามารถพบขนาดเกิน 1 ฟุตได้บ่อยๆใน
ธรรมชาติครับ